วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning : PL)


ให้นิสิตศึกษานวัตกรรมทางการศึกษาที่สนใจมา 1 รายการ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นสำนวนภาษาของตนเองในกรรมที่ประเด็นต่อไปนี้

1)       สรุปลักษณะหรือรายละเอียดของนวัตกรรมที่ศึกษา
               การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning :  PL) เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเป็นการเรียนรู้ที่มีความเชื่อว่าเป็นการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาในด้านความรู้  ทัศนคติ ทักษะ และพฤติกรรมของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากการเรียนรู้แบบนี้เป็นดึงประสบการณ์ ศักยภาพของผู้เรียนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่  โดยหลักการสำคัญของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  คือ กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้ที่อาศัยประสบการณ์เดิมของผู้เรียน  การเรียนคือกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง  เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของผู้เรียน  ( Active Learning )  และการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนกับครู   โดยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีองค์ประกอบ ดังนี้
                     1.  ประสบการณ์  (Experience)  เป็นขั้นตอนที่ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนนำความรู้และประสบการณ์เดิมของตนเองมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ของตนเอง โดยการศึกษาหาความรู้จากครู จากสื่อต่างๆ รวมทั้งการทำงานกลุ่ม เป็นต้น
                   2.  สะท้อนความคิด/ อภิปราย (Reflection and Discussion) เป็นขั้นตอนที่ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและสร้างบรรยากาศเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออกด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยผู้เรียนและครูร่วมกันกำหนดประเด็นหัวข้อในการอภิปรายกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอต่อกลุ่มใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยใช้ความรู้พื้นฐานจากประสบการณ์ของผู้เรียน
                      3.   ความคิดรวบยอด  (Concept) เป็นขั้นตอนการสร้างความเข้าใจของผู้เรียนเอง โดยการวิเคราะห์และสังเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากผลของการสะท้อนความคิดและอภิปรายเพื่อนำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอดให้เป็น
ความรู้ของตนเอง
                      4.   ทดลอง/ ประยุกต์แนวคิด (Experimentation/Application) เป็นขั้นตอนที่ต้องการให้ผู้เรียน
นำผลจากขั้นความคิดรวบยอดที่เกิดขึ้นใหม่ไปประยุกต์ใช้ในลักษณะหรือสถานการณ์ต่างๆ จนเกิดเป็นแนวทาง
ของตนเอง

2)       ค้นคว้าทฤษฎีที่สนับสนุน
              การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  มีพัฒนาการมาจากการนักปรัชญาการศึกษา คือ Dewey ที่ได้เริ่มใช้วิธีการเรียนรู้จากการกระทำ (learning by doing)  ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เป็นการดึงเอาความสามารถของผู้เรียนออกมา  ซึ่งผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น ผู้สอนจะกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาได้มากขึ้น และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนี้ยังเป็นการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ดังที่มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ได้กล่าวไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและตามศักยภาพ รวมทั้งการจัดการเรียนรู้แบบนี้ยังต้องอาศัยประสบการณ์เดิมของผู้เรียน  ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎี Constructivism ที่ว่ามนุษย์สามารถสร้างความรู้ของตนเองได้โดยอาศัยประสบการณ์และความรู้เดิมของแต่ละคน  ผู้เรียนจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม  การเรียนรู้ของแต่ละบุคคนจะมีระดับแตกต่างกันไป เรียกได้ว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลมากขึ้นตามลำดับ  และผู้เรียนจะควบคุมการเรียนรู้ด้วยตนเอง  และสอดคล้องกับที่โคล์บ และฟราย (Kolb and Fry. 1975)  ได้กล่าวว่า  การเรียนรู้จากประสบการณ์  คือ กระบวนการสร้างความรู้ ทักษะ และเจตคติด้วยการนำเอาประสบการณ์เดิมของผู้เรียนมาบูรณาการเพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ   

           3) การนำไปประยุกต์ใช้
                  การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนั้น  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น  นำไปใช้ในการอภิปรายกลุ่มในรายวิชาต่างๆ ที่ให้ผู้เรียนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นหรือมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  รวมทั้งนำไปประยุกต์ใช้โดยเมื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะมีการสรุปความคิดต่างๆ ในรูปแบบของแผนผังความคิด  (Mind mapping) ซึ่งเป็นขั้น Concept  เพื่อเป็นการสรุปความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง   และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานอื่นๆ ได้อีกด้วย  เช่น  งานพัฒนาชุมชนต่างๆ ซึ่งจะนำเอาหลักการของการเรียนรู้แบบนี้ไปใช้เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ของชุมชน 

              4) การวิพากษ์ข้อดี ข้อจำกัด ข้อค้นพบ
                   การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) เป็นการเรียนรู้ในเชิงประสบการณ์และการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม  ซึ่งมีข้อดี คือ ผู้เรียนได้มีการดึงเอาประสบการณ์ของตนเองที่ติดตัวออกมาใช้ในการเรียนรู้   
ผู้เรียนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากเพื่อนในกลุ่มเพิ่มมากขึ้นด้วย  และช่วยกันทำงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยดี  ซึ่งผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในทุก      กระบวนการ รวมทั้งการเรียนรู้แบบร่วมมือนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหา ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง
               ในส่วนของข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) คือ  เมื่อมีการจัดกิจกรรมกลุ่ม อาจมีผู้เรียนบางคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ยอมแสดงความคิดเห็นร่วมกับผู้อื่น  รวมทั้งในการจัดกิจกรรมกลุ่มนั้น  อาจจะทำให้ผู้เรียนไม่ได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมทุกคน  ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนี้

เอกสารอ้างอิง
กรมสุขภาพจิต.  คู่มือฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วม. 2544.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพมหานคร:วงศ์กมลโปรดักชั่น.
สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. การจัดการะบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม. 2544. 
         เชียงใหม่: เชียงใหม่ บี เอส การพิมพ์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น